สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งขึ้นด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกลของอดีตอธิการบดี รังสรรค์ แสงสุข เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ด้วยเล็งเห็นว่าภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร การศึกษา การค้าและการพัฒนาประเทศ จึงดำริให้มีการจัดตั้งสถาบันภาษาขึ้นที่ ชั้น 4 อาคารสุโขทัย ประกอบกับมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นด้วยการมอบโสตทัศนูปกรณ์ห้องปฏิบัติการภาษาให้แก่มหาวิทยาลัย จำนวน 4 ห้อง รวม 160 ที่นั่ง
สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรามคำแหงเริ่มดำเนินการเมื่อเดือน มีนาคม 2545 โดยจัดการทดสอบเพื่อวัดระดับพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษก่อนเข้ารับการอบรมในระดับ 1 ถึง 6 การอบรมมุ่งเน้นการสื่อสารทั้งสี่ทักษะ คือ การพูดควบคู่กับการฟัง และการอ่านควบคู่กับการเขียนเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีทักษะยุทธ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียนปกติ การเรียนซ่อมเสริมเพิ่มเติมในห้องเรียนขนาดเล็ก ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สอนและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้ารับการอบรมอื่น ๆ มากขึ้น เมื่อเรียนและสอบผ่านครบ 6 ระดับ มหาวิทยาลัยจะนำผลสอบบันทึกในทรานสคริปต์เพื่อประโยชน์ในการสมัครงานหลังสำเร็จการศึกษา นอกจากจะให้บริการกับนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว สถาบันภาษายังได้เปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาฟิลิปปิโน ภาษาพม่า และภาษาไทยสำหรับชาวต่างชาติ รับแปลเอกสารภาษาต่างๆ รวมทั้งรับแปลบทคัดย่อวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาด้วย
นอกจากนี้ สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนในการเป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดอบรม จัดทำข้อสอบ จัดทำหลักสูตรและสื่อการสอน และจัดหาครูชาวต่างประเทศไปสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ
รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ การที่จะก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติได้ จำเป็นที่จะต้องมีความสามารถในการสื่อสาร 2 ประการที่สำคัญ คือ ความสามารถในการสื่อภาษาและความสามารถในการติดต่อสื่อสาร ต้องรู้จักการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้มากที่สุด ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดเครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสาร วัสุด อุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ และสื่อการสอนต่าง ๆ ที่ทันสมัยไว้บริการอย่างพอเพียง ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาที่สอง โดยเร่งจัดโครงการฝึกอบรมให้บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยให้มีความสามารถและทักษะในการสื่อภาษาได้มากกว่าสองภาษา รวมทั้งมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสาร ฯลฯ ที่ทันสมัย ทั้งนี้เพื่อให้ทันและอยู่ในสังคมโลกปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจึงมุ่งผลิตบัณฑิตสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความรู้ ความสามารถทุกระดับ ให้มีความสามารถในการสื่อภาษาได้มากกว่าสองภาษา รวมทั้งมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีบทบาทสูงในยุคปัจจุบัน และที่สำคัญและขาดไม่ได้คือ ให้มีความรู้คู่คุณธรรม
ดังนั้น นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาต่าง ๆ ของคณะมนุษยศาสตร์ทั้งระดับอุดมศึกษาและบัณฑิตศึกษา ได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะภาษามีความสำคัญมากทางการสื่อสารในยุคโลกาภิวัฒน์และในอนาคต เพื่อความสัมฤทธิผลในการส่งเสริมสนับสนุนนโยบายมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเพิ่มขึ้นทางด้านภาษา พัฒนาบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความสามารถใช้สื่อภาษาได้หลากหลาย รวมทั้งช่วยพัฒนาการศึกษาและศักยภาพด้านภาษาของประเทศ จึงได้มีการจัดตั้งสถาบันภาษมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้น ซึ่งได้รับอนุมัติจัดตั้งโดยสภามหาวิทยาลัยโดย ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 9/2544 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 วาระที่ 4.5 โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
1. เพื่อจัดการฝึกอบรมภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ โดยจัดเป็นหลักสูตรทั้งระยะสั้นและระยะยาวในระดับต่างๆ
2. เพื่อเป็นหน่วยงานในการสอบเทียบระดับความรู้และมาตรฐานทางด้านภาษา และให้การรับรอง
3. เพื่อฝึกอบรมการแปลและล่าม เพื่อส่งเสริมและผลิตงานแปลที่มีคุณภาพที่นำไปสู่ความเข้าใจศิลปวัฒนธรรมระหว่างชาติ
4. เพื่อให้บริการแปล
5. เพื่อเป็นศูนย์กลางของการบริการด้านภาษาแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัย ชุมชน หน่วยงานต่างๆทั้งของภาครัฐและเอกชน
6. เพื่อส่งเสริมระบบการเรียนการสอนทั้งในห้องเรียนและการสอนทางไกล
7. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาของประเทศไทยและของภูมิภาค
8. เพื่อมุ่งพัฒนาการผลิตบัณฑิตให้มีการทักษะเพิ่มขึ้นทางด้านภาษารวมทั้งบุคลากรของมหาวิทยาลัย ให้มีความสามารถในการสื่อสารในการสื่อภาษาได้หลากหลาย
9. เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ไม่มีโอกาสเข้าชั้นเรียน ได้มีแหล่งข้อมูลที่จะฝึกทักษะทางภาษาอย่างมีประสิทธิภาพโดยการศึกษาด้วยตนเอง
10. เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนภาษาในมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาเพื่อมวลชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
11. เพื่อบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรม
รับมอบโสตทัศนูปกรณ์ห้องปฏิบัติการภาษาจากรัฐบาลญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2546 เวลา 10.00 น. ณ สถาบันภาษา อาคารสุโขทัย ชั้น 4 มหาวิทยาลัยรามคำแหง รองศาสตราจารย์ รังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับมอบโสตทัศนูปกรณ์ปฏิบัติการภาษาของสถาบันภาษาจาก นายอะกิฮิโกะ ฟูจิอิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ผู้แทน ฯพณฯเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนทบวงมหาวิทยาลัย กรมวิเทศสหการ คณะผู้บริหาร คณาจารย์และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก
หลังจากพิธีรับมอบ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เชิญที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ทำพิธีเปิดและเข้าชมห้องปฏิบัติการภาษา ทั้ง 4 ห้อง ณ อาคารสุโขทัย ชั้น 4 ซึ่งห้องปฏิบัติการภาษาดังกล่าวอยู่ในความดูแลของสถาบันภาษามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ระพิณ ทรัพย์เอนก เป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษาเป็นท่านแรก
มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับทุนความช่วยเหลือแบบให้เปล่าด้านวัฒนธรรมจากรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนโสตทัศนูปกรณ์ปฏิบัติการภาษาสำหรับใช้ในห้องเรียนปฏิบัติการภาษาของสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง มูลค่า 43.5 ล้านเยน อุปกรณ์เหล่านี้จัดส่งมาจากประเทศญี่ปุ่น ติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วจำนวน 4 ห้อง รวม 160 ชุด และได้มอบให้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้ใช้งานสำหรับการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน

รักความก้าวหน้า ภาษากล้าแกร่ง ต้องแบ่งเวลา มาศึกษาที่ RIL
Progressive , build up your languages skills. Find some time to study at RIL
เกี่ยวกับโลโก้ RIL
อักษร / ลักษณะ / สี | ความหมาย |
ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง(พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) | มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
ลายเส้นลูกโลก | ความเป็นสากล /การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน |
Ramkhamhaeng Institute of Languages | สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สีน้ำเงิน ทอง | สีประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง |
สีส้ม | สีแห่งการเรียนรู้ เป็นสีที่ช่วยกระตุ้นพลังงานและความสดชื่น |